นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่ารัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฝ่าฟันข้อจำกัด รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่งมอบนโยบายพลิกชีวิตประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนร้านค้าจะได้ลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/2567 และเงินส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4/2567 โดยนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ลดภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชน ก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ความคุ้มค่าจะให้สิทธิ์แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6%
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใสตรวจสอบได้ วงเงิน 5 แสนล้านบาท บริหารจัดการผ่านงบประมาณได้ทั้งหมด มาจากงบประมาณปี 2567 และ งบประมาณปี 2568 ควบคู่กันไป แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. งบประมาณปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว
2. การเติมเงินโครงการผ่านหน่วยงานรัฐ จำนวน 172, 300 ล้านบาท จะใช้มาตรา 28 โดยให้ ธกส. ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ของปีงบประมาณ 2568
3. งบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบปี 67 เพิ่งเริ่มใช้ อยู่ที่รัฐบาลจะบริหารจัดการใช้เงินจากรายการไหนที่ปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง
โดยหากนำเงิน 3 แหล่งมารวมกันก็จะได้ 5 แสนล้านบาทพอดี ทั้งนี้ ปลัดคลังฯ ยืนยันการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตราที่แบงก์ชาติกังวล ไม่ได้ใช้เงินจากมาตรการอื่น และมีเงิน 5 แสนล้านบาทในวันเริ่มต้นโครงการ