“ก้าวไกล” บุกตรวจบ่อเก็บแคดเมียมที่ตาก ย้ำกระบวนการขนย้ายต้องเข้ม

wewy-min

 

สส.ก้าวไกล ลงพื้นที่บ่อเก็บแคดเมียม จ.ตาก ชี้กระบวนการขนย้ายกลับต้องเคร่งครัดความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ดึงประชาชนมีส่วนร่วม จี้รัฐบาลสังคายนานโยบายอุตสาหกรรมทั้งระบบ กฎหมาย PRTR – กฎหมายจัดการขยะ ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยได้แล้ว

สส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายคริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก เขต 1 พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของบริษัทเหมืองสังกะสี ต้นตอของกากแคดเมียมกว่าหมื่นตัน, นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล ซึ่งพื้นที่ที่พบกากแคดเมียมเตรียมหลอม พร้อมด้วย สส. พรรคก้าวไกลที่อยู่ในคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นายพูนศักดิ์ จันทร์จําปี สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานอนุ กมธ.ที่ดินฯ และ นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ กมธ. รวมถึง นางสาวศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ กลุ่ม “ก้าวกรีน” ที่ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม ในฐานะ กมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อเก็บกากแคดเมียม จ.ตาก เพื่อตรวจสอบสภาพความพร้อมของบ่อหากจะมีการขนย้ายกากแคดเมียมกลับมา

จากการตรวจสอบ พบบ่อแคดเมียมมีทั้งหมด 7 บ่อ เป็นบ่อที่ระบุไว้ในรายงาน EIA ว่าต้องเก็บไว้ถาวร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แต่ต่อมาบริษัทที่เก็บกากของเสียได้นำกากแคดเมียมไปขาย จึงมีการขุดบ่อคอนกรีตที่เก็บกากแคดเมียมขนย้ายออกไปแล้ว 1 บ่อ คือบ่อหมายเลข 5 ส่วนบ่อหมายเลข 4 ถูกเปิดไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่กากแคดเมียมที่เหลือยังกองอยู่ในโกดังที่ จ.ตาก

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า บ่อแคดเมียมบ่อที่ 5 ถูกขุดแคดเมียมออกไปหมดแล้ว มีปริมาตรประมาณ 7,000 คิว เป็นบ่อหลักที่ขนย้ายไปที่ จ.สมุทรสาคร หลังจากนี้ทราบว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะทำแผนขนย้ายแคดเมียมกลับไปที่ จ.ตาก เสร็จหลังสงกรานต์ แต่กระบวนการขนย้ายคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเพื่อให้ปลอดภัยทั้งต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทาง

ระหว่างการลงพื้นที่ พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดตาก ได้ซักถามถึงความเป็นมาของการขนย้ายกากแคดเมียมโดยไม่มีการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ และยังได้ยื่นข้อเรียกร้องว่า หากจะต้องนำกากมากักเก็บไว้ที่ จ.ตาก ตามเดิม ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม ตรวจสอบสภาพบ่อเก็บกากและมาตรฐานความปลอดภัยในการจัดเก็บกากแคดเมียมอย่างโปร่งใส จนประชาชนมีความมั่นใจ เพราะจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ สังเกตเห็นรอยแตกของคอนกรีตในบ่อจัดเก็บกากแคดเมียม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนได้ในอนาคต โดยกระบวนการหลังจากนี้ ขอให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตรวจสอบด้วย

ด้าน นายคริษฐ์ แสดงข้อกังวลว่า หากมีการนำกลับมาฝังกลบที่เดิม ชาวจังหวัดตากจะมั่นใจได้อย่างไรว่าในอนาคตจะไม่มีการลักลอบขุดอีก เพราะกากแคดเมียมในวันนี้มีมูลค่าจนจูงใจให้มีการลักลอบขุดขึ้นมาในครั้งนี้

ขณะที่ นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่างรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กับ กมธ.ที่ดินฯ ได้ข้อสรุปตามที่ กมธ.ที่ดินฯ เสนอว่า
(1) การจะดำเนินการใดๆ ต้องแก้ไขรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment Report) เพื่อกำหนดให้การอนุญาตให้นำกากแร่แคดเมียมจากการจัดเก็บในบ่อซีเมนต์ไปดำเนินการอื่นใด ต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือหน่วยงานผู้อนุญาต ในกรณีที่การดำเนินการนั้นมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม โดยในขั้นตอนการแก้ไข EIA ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา
(2) หน่วยงานรัฐต้องตรวจสอบการปนเปื้อนของแคดเมียมในพื้นที่เพื่อคลายความกังวล เบื้องต้นสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 3 พิษณุโลก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้เก็บตัวอย่างพื้นที่และชุมชนบริเวณโดยรอบไปแล้ว และน่าจะทราบผลในวันที่ 18 เมษายน 2567
(3) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต้องรอบคอบในการพิจารณาอนุญาตการนำของเสียออกนอกโรงงาน เช่น ผู้ประกอบการได้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดใน EIA หรือไม่ และต้องตรวจสอบปลายทางว่ามีขีดความสามารถในการจัดการภายในระยะเวลา 30 วันตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 หรือไม่ (4) การขอจัดการของเสียเป็นหน้าที่ของผู้ก่อกำเนิดของเสีย ที่ต้องติดตามจนกระทั่งของเสียได้รับการจัดการแล้วเสร็จ ดังนั้นบริษัทผู้ก่อกำเนิดของเสีย มีหน้าที่จัดการของเสียที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง (5) หากมีการรับกลับกากแคดเมียมจากจุดที่ค้นพบโดยไม่ได้รับอนุญาตใน จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และอื่นๆ จะต้องตรวจสอบหลุมกักเก็บ กำหนดแนวทางการขนส่งและการจัดการให้ชัดเจน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

นายพูนศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งพรรคก้าวไกลยื่นเข้าสภาฯ แล้วตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2566 อยู่ในขั้นตอนรอบรรจุวาระ ฉบับแรกคือกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR จะกำหนดให้ผู้ที่ครอบครอง ปล่อย หรือเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบความเสี่ยงของพื้นที่โดยเร็วที่สุด

ส่วนอีกฉบับคือกฎหมายการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร ที่จะแยกอำนาจการตรวจสอบของเสีย ออกจากหน่วยงานที่มีอำนาจอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งคืออุตสาหกรรมจังหวัด มาสู่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้มงวด และโปร่งใสในการดำเนินการ ไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์นี้

สุดท้ายนี้ สส.ก้าวไกล กลุ่มก้าวกรีน ขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ทำงานอย่างหนักในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงส่งความห่วงใยและกำลังใจให้พี่น้องประชาชนทุกท่านที่ได้รับผลกระทบ สส.ก้าวไกล กลุ่มก้าวกรีน จะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เร่งผลักดันกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR เพื่อให้แน่ใจว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก และพี่น้องประชาชนจะได้รับความปลอดภัย รวมถึงจะตั้งคำถามไปยังรัฐบาลด้วยว่า จะเอาอย่างไรกับนโยบายอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายเหล่านี้ รัฐบาลต้องคิดทั้งระบบเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคุณภาพของสิ่งแวดล้อมซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จากกรณีกากแคดเมียมพิสูจน์แล้วว่า ถ้ามาตรฐานการควบคุมสารมลพิษของประเทศมีความบกพร่อง ต่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งต้นตอหลายร้อยกิโลเมตร ก็มีความเสี่ยงต้องรับผลกระทบไปด้วย

ก้าวไกล,แคดเมียม,ก้าวกรีน,ตาก,ขนย้ายกลับ

แท็ก