วิจัยพบเทคโนฯ ส่วนต่อประสานสมอง-คอมพ์ หนุนฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทีม นักวิทยาศาสตร์ของจีนค้นพบว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์ (BCI) อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อรยางค์บน (upper limb) หรือส่วนแขนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสารเซลล์ เมด (Cell Med) ระบุว่าคณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลเป่ยจิง เทียนถาน สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นครหลวง ณ กรุงปักกิ่งของจีน เป็นผู้นำการทดลองทางคลินิกข้ามศูนย์ 17 แห่ง เพื่อตรวจสอบระบบการสื่อสารที่เปลี่ยน “ความคิด” ในสมองเป็นคำสั่งนี้ ซึ่งมักถูกใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
การทดลองดังกล่าวทำการสุ่มฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์ หรือฟื้นฟูสมรรถภาพแบบดั้งเดิม แก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ 296 ราย เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยผลลัพธ์เบื้องต้นพบกลุ่มผู้ป่วยที่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์ ทำคะแนนเพิ่มขึ้นจากคะแนนพื้นฐานมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบดั้งเดิม
อนึ่ง สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน รายงานว่าจีนมีผู้ประกอบการด้านส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์เกือบ 200 ราย ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 25 ทำงานด้านเทคโนโลยีที่ฝังในร่างกาย และร้อยละ 75 ทำงานด้านเทคโนโลยีที่ไม่ฝังในร่างกาย