3 รัฐมนตรี ไม่ยอมให้รุกล้ำอธิปไตยไทย พร้อมยึดมั่นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

oumoim (63)

3 รัฐมนตรี ไม่ยอมให้รุกล้ำอธิปไตยไทย พร้อมยึดมั่นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประธานกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) และนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา

นายปานปรีย์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายตนเอง และรัฐมนตรีอีก 2 คน มาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการดูแลด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาที่หาที่ปลอดภัยในแผ่นดินไทย เชื่อหากสถานการณ์คลี่คลายก็คงจะกลับไปทั้งหมดใน 1-2 วันนี้

ส่วนผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สอด มีการดูแลเฝ้าระวังใกล้ชิด หากมีกรณีที่คาดว่าจะเกิดอันตราย ฝ่ายรัฐบาลก็พร้อมเข้าดูแลทันที ย้ายคนไทยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ดังนั้น กองทัพบก กองทัพอากาศ และกระทรวงมหาดไทย ถือว่ามีการดูแลอย่างดีมาก ที่สำคัญ จะไม่ให้ใครรุกล้ำอธิปไตยโดยเด็ดขาด หรือใช้พื้นที่ของไทยไปต่อต้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมทั้งยึดมั่นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เหล่านี้คือนโยบายที่มอบหมายไปตั้งแต่ต้น และดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยืนยันว่า การข้ามแดนเป็นไปตามปกติ อุปกรณ์ผ่านแดนฝั่งเมียวดีที่เสียนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร คงจะซ่อมแซมได้โดยเร็ว ส่วนจำนวนผู้หนีภัยความไม่สงบก็เหลือเพียง 600 กว่าคนแล้ว การเดินทางกลับไปจึงน่าจะไม่มีปัญหาแล้ว

ทั้งนี้ข้อเสนอต่อการตั้งเมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) มีการพูดคุยกัน แต่ไทยรับสถานการณ์ได้ไม่ถึงขั้นต้องตั้งพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ของเขา มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคิดให้ละเอียด ท้ายที่สุดเราก็อยากให้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายปานปรีย์ ตอบรับถึงข้อเสนอให้รัฐบาลไทยเป็นตัวกลางพูดคุยให้การสู้รบลดน้อยลงว่า เป็นไปได้มาก เพราะขณะนี้มีการพูดคุยในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงชาติพันธุ์ติดอาวุธ และรัฐบาลเมียนมา แต่เนื่องจากขณะนี้ในส่วนของเมืองเมียวดี การเจรจายังอยู่ภายในฝ่ายของเขา ยังไม่มีเวลาคุยกับเรา แต่เขาทราบแล้วว่า เราพร้อมเป็นตัวเชื่อมประสานแก้ไขเมียนมาทั้งระบบให้กลับสู่สันติภาพโดยเร็ว ส่วนการเจรจาผ่านบทบาทอาเซียน ไทยคิดว่าอาเซียนควรมีส่วนประสานงานแก้ไขปัญหาเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกด้วย หลังจากส่งหนังสือไป 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ประธานคือประเทศลาว ทำงานเร็ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอคำตอบจากอาเซียนอีก 8-9 ประเทศ และคาดว่าจะมีการประชุมของอาเซียนอีกชุดด้วย
ส่วนสภาพการดูแลที่ภาคประชาสังคมห่วงกังวล นายปานปรีย์ กล่าวว่า คนเข้ามาหลบภัยคงไม่คาดหวังว่าจะเข้ามาอยู่ในที่สะดวกสบาย ดังนั้น การดูแลจึงเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีแนวปฏิบัติที่เป็นสากล (Standard of Procedures) และเท่าที่ได้รับฟัง ยังไม่มีใครมีความรู้สึกว่าเข้ามาแล้วยากลำบาก แต่เข้ามาชั่วคราวเพื่อหลบภัย
ด้านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และมีการรายงานสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เรามีความจำเป็นต้องให้การดูแลผู้หลบภัยเข้ามาด้วยความจำเป็นด้านมนุษยธรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า หากเพื่อนบ้านมีภัยเสี่ยงต่อชีวิต เราก็ต้องให้ความดูแลอย่างปลอดภัย

ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์ดีขึ้นมาเป็นลำดับ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทุกหน่วยงาน จึงขอให้ความมั่นใจให้ประชาชนที่มีญาติพี่น้องในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก สบายใจ ส่วนนักท่องเที่ยวก็สามารถมาท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ มากมาย และอุดหนุนการค้าชายแดนได้ด้วย อยากให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ จึงไม่ควรให้เหตุการณ์ปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านมาทำลายโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของเรา

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กองทัพยืนยันว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ อยู่ในระดับที่เรารับมือได้ เตรียมการในระดับปกติ ยังไม่มีความจำเป็นต้องยกระดับการรับมือ ทั้งในภาคพื้นดิน มีกองทัพภาคที่ 3 มีกองกำลังผลักดัน และให้ขวัญกำลังใจชาวบ้านได้ และกองทัพอากาศมีความสามารถสกัดยับยั้งได้ โดยมีข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามว่า หากนำเครื่องบินเข้ามาต้องแจ้งก่อน โดยเรามีศักยภาพในการนำเครื่องบินขึ้นสกัดได้ทันที ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีภัยทางอากาศ และรับมือได้ ส่วนผู้หนีภัยความไม่สงบนั้น มีการดำเนินมาตรการคัดแยกตามกลุ่มตามขั้นตอน คือ หากเป็นชาวบ้าน ฝ่ายปกครองก็จะดูแล แต่หากเป็นทหารก็เข้าสู่กระบวนการปลดอาวุธ

 

 

แท็ก