“กดเปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนแล้วเลือกทุเรียนพันธุ์ที่ถูกใจ รออยู่ที่บ้านไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็ได้ทุเรียนอร่อยๆ มาแล้ว” คำบอกเล่าจากหวงหรงเซิง ชาวเมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ผู้สั่งซื้อทุเรียนทางออนไลน์เป็นครั้งที่ 3 ในฤดูทุเรียนปีนี้
“ทุเรียนไทยพูสวยและรสชาติหวานมันกลมกล่อม” หวงกล่าว พร้อมเสริมว่าคนขายบางส่วนให้บริการสั่งทางออนไลน์และจัดส่งถึงที่หรือไปรับที่หน้าร้าน ทั้งยังมีการรับประกันการชดเชยหรือเปลี่ยนสินค้าที่เสียหายเพื่อควบคุมคุณภาพ ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายอกสบายใจ บ้านของหวงนั้นอยู่ไม่ไกลจากซูเปอร์มาร์เก็ตโลตัส มาร์เก็ต (Lotus Market) ที่ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดบูธวางจำหน่ายทุเรียนหลายพันธุ์นำเข้าจากไทยภายใต้แบรนด์ซีพี เฟรช (CP Fresh) ทั้งพันธุ์หมอนทอง พันธุ์พวงมณี และพันธุ์มูซังคิง โดยกลิ่นหอมเตะจมูกและรูปลักษณ์เตะตาดึงดูดผู้คนเดินเข้าดูและเลือกซื้อพนักงานประจำแผนกผลไม้ของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้เผยว่าตอนนี้ทุเรียนสดจากไทยทยอยเข้ามาตลาดจีนแล้ว แม้มีปริมาณจำกัดและราคาสูง แต่ยังคงเป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าผู้บริโภคเหมือนเดิม โดยทุเรียนหมอนทองได้รับความนิยมมากที่สุด และมักจำหน่ายทางออนไลน์จนหมดตั้งแต่ช่วงเย็น ทั้งนี้ ทุเรียนในภาคตะวันออกของไทยจะเริ่มถูกเก็บเกี่ยวขนานใหญ่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก่อนทยอยขนส่งสู่ตลาดจีนทางถนน รถไฟ เรือ และเครื่องบินแบบแบ่งล็อตตั้งแต่กลางเดือนเมษายน โดยได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)ไทยถือเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดสู่จีนเจ้าแรกและเจ้าใหญ่ที่สุด โดยความนิยมมาเนิ่นนานและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดจีนช่วยอัดฉีดแรงกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ นำพาโอกาสทางธุรกิจมาสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรแห่งหนึ่งของกว่างซี กล่าวว่าตั้งแต่เข้าเดือนเมษายน บริษัทของเขานำเข้าทุเรียน 50 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ตอนแรกมีแค่พันธุ์กระดุมทองก่อนจะเพิ่มพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และมองว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นที่นิยมของตลาดจีนต่อไปในปีนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โม่เพิ่งเดินทางเยือนจังหวัดจันทบุรีเพื่อสั่งซื้อทุเรียน โดยบริษัทของเขาทำธุรกิจนำเข้าผลไม้ปริมาณมากจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจนก่อเกิดห่วงโซ่อุปทานทุเรียน มะพร้าว และผลไม้อื่นๆ ในช่วงหลายปีมานี้ ขณะเดียวกันยังจัดจำหน่ายทุเรียนไทยผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและซูเปอร์มาร์เก็ต นอกเหนือจากการขายส่ง ยอดจำหน่ายทุเรียนที่เฟื่องฟูช่วยเพิ่มความมั่นใจของผู้ประกอบการในการวางแผนจัดจำหน่ายในปี 2024 ดังเช่นไล่ผิงเซิง ประธานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรในกว่างซี สังกัดซีพี กรุ๊ป (CP Group) เผยแผนการนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ โดยส่วนหนึ่งจะถูกจัดจำหน่ายในกว่างซีราว 324 ตัน ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าเป้าหมาย 600 แห่ง โม่เสริมว่าตอนนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดเช่นเดียวกับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่ขยับขยายต่อเนื่อง ส่วนทุเรียนไทยจะยังคงเป็นดาวเด่นในตลาดจีนต่อไป และคาดว่ายอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนจะแตะระดับสูงสุดภายในเดือนพฤษภาคมนี้