กทม.มุ่งทำผังเมืองของทุกคน ชวน ปชช.ร่วมแสดงความเห็นถึงสิ้นก.พ.

กทม.มุ่งทำผังเมืองของทุกคน ชวน ปชช.ร่วมแสดงความเห็นถึงสิ้นก.พ.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยมีคณะกรรมการฯ ได้แก่ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผังเมือง ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานภายนอก ร่วมประชุม

ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมในวันนี้เป็นการแจ้งความคืบหน้ากระบวนการที่ได้ดำเนินการมาในการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งทางคณะกรรมการได้เห็นชอบที่กรุงเทพมหานครขยายระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ รวมถึงคณะกรรมการได้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในแง่ของข้อดีของผังเมืองนี้ว่ามีประโยชน์กับประชาชนโดยทั่วไปอย่างไร รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน

ที่ผ่านมาในช่วงที่มีการขยายเวลา เราก็ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการชุมชนด้วย โดยจะทำให้ครบทั้ง 50 เขต และเชิญชุมชนทั้ง 2,007 แห่ง มาร่วมประชุม ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้ว 13 เขต มีคนมาร่วมเกือบ 2,000 คน และจะทยอยทำตามที่ได้รับปากกับประชาชนไว้

ในส่วนของสภากรุงเทพมหานครก็ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ซึ่งเราก็จะมีการหารือกับทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานครโดยละเอียด แล้วจะมีการประชุมหารือกลุ่มย่อยที่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ในส่วนของ ส.ส. ส.ก. ที่อยู่ในพื้นที่เขต เราก็จะมีการเชิญเข้ามาร่วม รวมถึงจะมีกระบวนการ Focus Group ด้วย

กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยส่วนตัวก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเช่นกัน การนัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ก็เพื่อทำให้ดีขึ้น เพราะอยากจะให้เป็นผังเมืองของทุกคน ฉะนั้นกระบวนการที่ยังมีความไม่เข้าใจกัน หรือยังขาดตกบกพร่องตรงไหน เราก็พร้อมจะทำให้ทุกคนสบายใจขึ้น ก็จะรับประเด็นที่ประชาชนมีข้อกังวลมาชี้แจง สื่อสารในประเด็นที่ประชาชนมีข้อสงสัยให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางคณะกรรมการฯ ให้ข้อแนะนำมา ทั้งนี้ กระบวนการต่าง ๆ จะยังเดินหน้าต่อไป โดยเราพร้อมฟังความเห็นของทุกท่านเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับกระบวนการหลังจากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เราจะประมวลความคิดเห็นทั้งหมด ตอบข้อสงสัย ปรับแก้ (ร่าง) ผังฯ โดยการตอบข้อสงสัยของประชาชนต้องทำอย่างเปิดเผย และหากมีการปรับแก้ก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการฯ ชุดนี้ก่อน จึงจะส่งไปที่กรรมการผังเมืองรวมฯ ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อพิจารณา เมื่อกรรมการผังเมืองรวมฯ ส่งออกมาก็จะต้องออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะต้องผ่านสภากรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนกรณีผังสีแดงเป็นจุดเป็นหย่อมนั้นมีมานานแล้ว เพราะเมื่อก่อนเจ้าของที่ดินสามารถขอผังสีตัวเองได้ ไม่ได้มาเริ่มในสมัยนี้ แต่กรณีที่สมัยนี้อาจจะมีเพิ่ม ก็เพื่อให้มีความเป็นโซนมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่เป็นจุด ๆ เราไม่ได้ให้เพิ่มอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งถนนบางเส้น เช่น ทองหล่อ อารีย์ ที่คนกังวลว่าจะโดนเวนคืน ถนนเหล่านี้อยู่ในผังเมืองมาตั้งแต่ปี 2556 แต่เมื่อก่อนอาจไม่ได้มีกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชน คนเลยไม่ทราบว่ามีถนนพวกนี้อยู่ ฉะนั้น บางเรื่องเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม บางเรื่องเป็นสิ่งที่เพิ่มมาใหม่ โดยเรามีหน้าที่ต้องฟังและชี้แจง ทั้งในเรื่องของข้อดีและประโยชน์ต่าง ๆ และตอบข้อที่ประชาชนยังสงสัยอยู่ ซึ่งคงต้องเพิ่มกระบวนการสื่อสารให้ดีขึ้น

“สำหรับประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นยังเปิดรับจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสามารถแสดงความเห็นได้ทั้งทางออนไลน์และออนไซต์ ซึ่งการให้ความเห็นตอนนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะโอกาสหน้าเราจะมีสิทธิในการทักท้วงได้เพิ่มเติม โดยเป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย

ในส่วนของการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเพิ่มเติม กรุงเทพมหานครได้เปิดช่องทางในการแสดงความคิดเห็นทั้งการยื่นหนังสือด้วยตนเองหรือไปรษณีย์ที่ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 และยื่นทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://webportal.bangkok.go.th/cpud พร้อมขยายเวลาแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์,กทม.,ผังเมือง

แท็ก