เขตจอมทอง ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วไหลภายในโกดังสะสมสารเคมี พระรามที่ 2 ซอย 20

oumoim (96)

 

นายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผู้อำนวยการเขตจอมทอง มอบหมายให้นายประสาท โพธิ์ศรีมาตย์ พร้อมด้วยนายพิสุทธิ์ ทองถิ่น หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ,เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ,เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วไหลภายในบริษัท เพรสชิเดนท์ เคมีภัณฑ์ จำกัด ซอยพระรามที่ 2 ซอย 20 ( ซอยจันทร์พริ้ง ) ถนนพระรามที่ 2 แขวงบางมด เขตจอมทองโดยมีเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงดาวคะนอง,เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจนครบาลบางมด และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่

ด้านนางอรสา ชื่นม่วง หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม,กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน,สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ,ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร และสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจหาสาเหตุสารเคมีรั่วไหลภายในบริษัท เพรสชิเดนท์ เคมีภัณฑ์ จำกัด
ทั้งนี้หลังจากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้

1️.สถานที่ดังกล่าวคือ บริษัท เพรสชิเดนท์ เคมีภัณฑ์ จำกัด สารเคมีที่รั่วไหล คือ THIOUREA DIOXIDE ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมกระดาษ สารเคมีดังกล่าวมีลักษณะเป็นผลึกผงสีขาว ขนาดบรรจุถังละ 50 กิโลกรัม มีจำนวนทั้งหมด 23 ถัง คุณสมบัติของสารเคมี มีฤทธิ์เป็นกรด มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง เมื่อเกิดการรั่วไหลออกจากภาชนะบรรจุจะทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ใช้น้ำในการเร่งปฏิกิริยาของสารเคมี และนำถังบรรจุสารเคมีที่รั่วไหลออกมาไว้ด้านนอกอาคารเพื่อรอการจัดเก็บไปทำลายอย่างถูกวิธี

2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการ ดังนี้

– ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตรวจวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
โดยตรวจบริเวณภายในและภายนอกสถานประกอบการรัศมี 100 เมตร ผลการตรวจวัดไม่พบก๊าซทั้ง 2 ชนิด

– ตรวจวัดคุณภาพน้ำ พารามิเตอร์ที่ตรวจ ได้แก่ ค่า pH, BOD, COD, ไนเตรท และไนไตรท์
โดยดำเนินการตรวจวัดบ่อพักน้ำที่อยู่ภายในโรงงาน ทั้งหมด 3 จุด และได้เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รอผลการตรวจวัดประมาณ 10 – 15 วัน

– สำรวจข้อมูลประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

สำหรับมาตรการที่ให้สถานประกอบการดำเนินการ คือ
1. ให้จัดเก็บกากของเสียของสารเคมีที่รั่วไหล ภายใน 7 วัน
2. ดูแลช่วยเหลือประชาชนใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากสารเคมีรั่วไหล
3. ให้แจ้งมาตรการหรือแผนปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของ
สถานประกอบการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสารเคมี
4. ให้จัดทำแผนการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสถานประกอบการ
ทั้งนี้ ให้สถานประกอบการแจ้งผลการดำเนินการทั้งหมดให้สำนักงานเขตจอมทอง ทราบภายใน 7 วัน

 

 

แท็ก