นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยต่างพากันปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมหาศาลมาก ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 1.1-1.5 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิ เฉลี่ยสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อใดจากโลกร้อนจะกลายเป็นโลกเดือดทันที เข้าใจว่าขณะนี้ เข้าใกล้จุดดังกล่าวเต็มที
ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร โลกอยู่ในภาวะของเอลนีโญ คือ น้ำทะเลย้อนกับไปทางอเมริกาใต้ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง รวมกับในบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้ง โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ ไม่รวมปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 25 ล้านคัน เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งสิ้น ส่งผลให้บรรยากาศโลก และประเทศไทยร้อนขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะลดลงในแต่ละปี
“ทางออกที่เราจะสามารถแก้หรือทุเลาให้สถานการณ์ดีขึ้นมาบ้าง เช่น เปลี่ยนรถยนต์น้ำมันดีเซลให้เป็นรถไฟฟ้าให้หมด เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เร่งออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.โลกร้อน เปลี่ยนมาใช้ระบบเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการเผา เปลี่ยนนโยบายการใช้ฟอสซิล ลดการใช้กระจกในตึกสูง เพราะการสะท้อนของกระจกกับแสงแดดนั้น ยิ่งทำให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้น ลดปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งที่พูดมาดังกล่าวนี้ ต้องยอมรับว่า ทำยาก แต่หากไม่อยากให้สถานการณ์โลก และประเทศไทยเลวร้ายไปกว่านี้ก็ต้องทำให้ได้ สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เวลานี้คือ การปลูกต้นไม้ แต่ก็ยังไม่เห็นหน่วยงานไหนรณรงค์เรื่องปลูกต้นไม้ในเวลานี้กันเลย
ส่วนสถานการณ์ที่ทุกคนเจอกันทั่วหน้าในขณะนี้คือ อากาศร้อน 43-44 องศาเซลเซียส ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยในปีนี้พบว่าอากาศร้อนขึ้นจากปีที่ผ่านมา ถึง 30% สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พายุฤดูร้อน น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น และร้อนขึ้น เกิดปะการังฟอกขาว และการกัดเซาะชายฝั่งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โรคในเขตร้อนที่หายไปแล้ว หรือลดลงมากแล้ว จะกลับมาใหม่ เช่น ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย หรือสัตว์พาหะของโรคเหล่านี้ เช่น ยุงก้นปล่อง จะเกิดมากขึ้น เพราะสัตว์พวกนี้ชอบอากาศร้อน
“ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะร้อนไปกว่านี้แน่ๆ เพราะตอนนี้ ดัชนีความร้อนในบ้านเราเกิน 50 องศาเซลเซียสไปแล้ว ซึ่งดัชนีความร้อน กับอุณหภูมิจริงไม่เหมือนกัน ดัชนีความร้อนคือ ความชื้นสัมพัทธ์บวกอุณหภูมิในอากาศ ซึ่งเกิน 50 องศาเซลเซียสถือว่าร้อนอย่างสาหัส ไม่ควรออกไปอยู่นอกที่ร่มอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลทางสุขภาพ อาจจะเป็นลมแดด หรือ เกิดฮีตสโตรกได้ เด็ก และคนชรา ห้ามออกไปตากแดดช่วงเวลา 10 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 โมงเย็น ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวันคือ เฉลี่ยประมาณบ่ายโมง”
ก่อนหน้านี้ นายสนธิโพสต์เตือนผ่านทางเฟซบุ๊กว่า อากาศร้อนและแล้งจัด hot to very hot weather..ระวังตัวด้วย!
1.องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ the World Meteorological Organization (WMO) เตือนให้ประชาชนในแถบปรเทศเเซียตะ วันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ให้ระวังสภาพอากาศร้อนจัดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
2.ภาวะเอลนีโญที่กระแสน้ำอุ่นมีทิศทางการไหลเปลี่ยนแปลงโดยพัดพาความชื้นจากแถบประเทศอาซี่ยนและออสเตรเลียไปยังแถบทวีปอเมริกาใต้ทำให้เกิดความแห้งแล้งในแถบประเทศอาเซียนประกอบกับโลกหมุนไปใกล้ดวงอาทิตย์โดยตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกทำให้ประเทศในแถบอาเซี่ยนในช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมจะทั้งร้อนจัดและแล้งจัด
3.ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ30 คนจากโรคHeat stroke มีอุณหภูมิในช่วงกลางวันในเดือนเมษายนปีนี้เฉลี่ย43.0 ถึง 44.5 องศาโดยในปีนี้มีจำนวนวันที่มีอุณห ภูมิสูงกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ30และโอกาสเกิดฝนตก ในกรุงเทพคิดเป็น 0%ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม
4.ไม่มีควรออกจากบ้านไปอยู่กลางแดดในช่วงเวลากลางวันช่วง11.00 ถีง15.00น.
, ต้องดื่มน้ำมากๆวันละ1.5 ถึง2.0ลิตร,ออกกำลังกายในที่ร่มวันละไม่เกิน30นาที,ผู้สูงอายุระวังเกิดอาการลมแดด ตะคริวและโรคลมร้อน อาจเกิดอาการวูบได้ อย่าออกนอกบ้านในช่วงกลางวันและควรทำกิจกรรมเบาๆ