นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามโครงการปรับปรุงสวนสราญรมย์ เขตพระนคร โดยมีข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
ปัจจุบันสภาพพื้นที่ภายในสวนสราญรมย์ เขตพระนคร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้เสื่อมสภาพและชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้ดำเนินโครงการปรับปรุงสวนสราญรมย์ ประกอบด้วย ปรับปรุงอาคารเรือนกระจก ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อยู่ระหว่างขออนุญาตจากกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการปรับปรุงและใช้ประโยชน์จากอาคารดังกล่าว ปรับปรุงศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ปรับปรุงรั้วที่ชำรุดและมีการทรุดตัว ปรับปรุงน้ำพุและระบบน้ำในสระน้ำ ปรับปรุงทางเดิน-วิ่ง ก่อสร้างอาคารปั๊มน้ำ Sprinkler พร้อมระบบท่อทางดูด ทางส่งน้ำ ก่อสร้างอาคารเพาะกายใหม่ทดแทนอาคารเดิม ที่ผ่านมาได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสุขาสาธารณะใหม่ทดแทนอาคารเดิมแล้วเสร็จ เปิดให้บริการประชาชนแล้ว จัดหาชุดสนามเด็กเล่น และเครื่องออกกำลังกายทดแทนที่ชำรุด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมพิจารณาถึงความเหมาะสมในการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนดังกล่าว การปรับปรุงอาคารเรือนกระจก การปรับปรุงระบบระบายน้ำ รวมถึงปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสวนที่ชำรุดเสียหาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้เข้ามาใช้บริการ ตลอดจนเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เข้ามาให้บริการภายในสวน
สวนสราญรมย์ ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง เขตพระนคร มีพื้นที่ 23 ไร่ เป็นพื้นที่มอบคืนให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 1 ไร่ 3 งาน 60.6 ตารางวา แนวคิดหลักของสวน เป็นสวนอเนกประสงค์ สวนรุกขชาติ พระราชอุทยานสราญรมย์ สวนศิลปวัฒนธรรม กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักพระราชวัง การดูแลสวนโดยเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร สวนสราญรมย์ เป็นเขตพระราชอุทยานในพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งสร้างขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นตึกดิน เนื่องจากมีพระราชดำริว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนพินิตประชานารถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงผนวชแล้วจะทรงมอบราชสมบัติให้ และพระองค์จะประทับเป็นพระเจ้าหลวงช่วยแนะข้อราชการแผ่นดิน ณ พระราชวังสราญรมย์ แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานวังสราญรมย์ ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์ และใช้เป็นสถานที่รับรองเจ้านายต่างประเทศที่มาเยือน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้พระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาว และใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังมอบพระราชวังสราญรมย์ให้รัฐบาลดูแลรักษา เพื่อให้คณะราษฎร์อาศัยตั้งสมาคมเรียกว่าสโมสรคณะราษฎร์ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นสโมสรราษฎร์สราญรมย์ ต่อมาสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยและกรมประชาสงเคราะห์ได้มาอาศัยตั้งที่ทำการในเขตพระราชอุทยานนี้ จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2503 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติมอบพระราชอุทยานแห่งนี้ให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ดูแลรักษา ในปี พ.ศ.2519 คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะปรับปรุงบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ให้เป็นสวนรุกขชาติ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปรับปรุงบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์เป็นสวนรุกขชาติและสวนสาธารณะจนถึงปัจจุบัน
องค์ประกอบภายในสวน มีดังนี้ 1.อนุสาวรีย์พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ 2.อาคารเรือนกระจก 3.ศาลากระโจมแตร 4.ศาลาแปดเหลี่ยม แสดงลักษณะสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 5.ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง (เก๋งจีน ในอดีตเมื่อครั้งสร้างสวน) 6.ประตูลายพันธุ์พฤกษา 7.น้ำพุพานโลหะ 8.พันธุ์ไม้หายาก กิจกรรมของผู้มาใช้บริการสวนสราญรมย์ ได้แก่ การเดิน-วิ่งรอบสวน การเต้นแอโรบิกเช้า-เย็น แบดมินตัน ปิงปอง การเพาะกาย เวทเทรนนิ่ง รำมวยจีน โยคะ กิจกรรมผู้สูงวัย (ศูนย์ฯ 1 สะพาญมอญ) กิจกรรมดนตรีในสวน และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ การศึกษาเรียนรู้ด้านพรรณไม้ งานรุกขกรรม และประวัติศาสตร์ งานสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ห้องสุขาสาธารณะ ห้องน้ำ 1 หลัง แบ่งออกเป็น ห้องสุขาชาย 3 ห้อง ห้องสุขาหญิง 5 ห้อง ห้องสุขาคนพิการ/ผู้สูงอายุ 1 ห้อง ที่จอดรถผู้พิการ/ผู้สูงอายุ หน้าอาคารสำนักงานสวนสราญรมย์ 1 จุด ประตูทางเข้า-ออกสวน 2 ประตู เส้นทางออกกำลังกาย (เดิน-วิ่ง) 500 เมตร/รอบ ลานจัดกิจกรรมนันทนาการ 1 จุด เปิดเวลาให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 04.00-21.00 น.