สธ.ย้ำห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ฝ่าฝืนปรับสูงถึง 5,000 บาท

oumoim (72)
 
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพทุกแห่ง ถูกกำหนดให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ไม่ว่าจะบริเวณภายในและภายนอกอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่จัดไว้ให้ ผู้มารับบริการใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งในระยะ 5 เมตรจากทางเข้า – ออกของสถานที่ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขต สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ซึ่งหากมีการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในโรงพยาบาล จะเป็นการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 42 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
 
ทั้งนี้เหตุผลสำคัญที่ต้องกำหนดห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ เนื่องจากการสูบบุหรี่นอกจากจะมีผลกระทบต่อตัวของผู้สูบเองแล้ว ควันบุหรี่ที่ถูกพ่นออกมา ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างที่ไม่ได้สูบแต่สูดดมเอาควันบุหรี่นั้นเข้าไปด้วย ที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง ซึ่งผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองนั้นจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน เช่น มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งปอด นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหอบหืด เป็นต้น
 
ขณะที่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เฉลี่ยปีละ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ พบว่า มีประมาณ 1.2 ล้านคนที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง สำหรับในประเทศไทยพบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะมากกว่า 6 แสนปี คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด
 
อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรคขอเน้นย้ำไปถึงประชาชนโดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ ควรปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้อื่นและคนรอบข้าง และสำหรับประชาชนที่พบเห็นการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ในเขตปลอดบุหรี่ สามารถร้องเรียนและแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรมควบคุมโรค โทร. 02590 3852
แท็ก