โฆษกรัฐบาลเผย ไทย-ภูฏาน เดินหน้าเจรจาการค้าเสรี แลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์การค้าการลงทุนระหว่างกัน ดันมูลค่าการค้าสู่เป้าหมาย 120 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นผลักดันการเปิดเสรีทางการค้ากับนานาประเทศ สร้างโอกาสและแต้มต่อในกับผู้ประกอบการไทย ในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยล่าสุดได้มีการขยายผล เปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏาน เพิ่มพันธมิตรทางการค้า ลดอุปสรรคระหว่างกัน ส่งเสริมความร่วมมือในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตร พร้อมตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 120 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568
นายชัย กล่าวว่า วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลไทย โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมหารือกับนายเชริง ท็อปเกย์ (Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏาน เพื่อบรรลุข้อตกลง พร้อมร่วมลงนามในเอกสารขอบเขตสำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน เพื่อเปิดการเจรจาการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ เดินหน้าอำนวยความสะดวกทางการค้า ขยายโอกาส โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่ทางฝ่ายภูฏานมีความประสงค์จะส่งออกสินค้าเกษตรมายังประเทศไทย ได้แก่ แอปเปิล มันฝรั่ง ส้ม และน้ำผึ้ง เป็นต้น โดยไทยยินดีถ่ายทอดความรู้ ด้านพัฒนาสินค้าและการตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าเกษตรภูฏานในร้านค้าของไทย
ในขณะที่ฝ่ายไทยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเตาอบไมโครเวฟ เป็นต้น ซึ่งทางฝ่ายภูฏานมีความชื่นชอบในสินค้าของไทย เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ โดยภูฏานถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ ในขณะที่ไทยเป็นตลาดนำเข้าสินค้าที่สำคัญของภูฏาน นอกจากนี้ ยังได้มีชาวภูฏานจำนวนมากเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ ทำธุรกิจ และท่องเที่ยว
นายชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์และภูฏานยังหารือถึงโครงการก่อสร้างเมืองอัจฉริยะ เกเลฟู มายฟูลเนส ซิตี้ (Gelephu Mindfulness City) บริเวณทางตอนใต้ของภูฏาน ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ โดยภายในเมืองประกอบไปด้วย การสร้างท่าอากาศยานระหว่างประเทศแห่งใหม่ โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เส้นทางคมนาคม การใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งบริเวณนี้มีจุดยุทธศาสตร์ติดกับประเทศอินเดีย โดยในปัจจุบันไทยมีนโยบายสนับสนุนนักธุรกิจและนักลงทุนให้เข้าไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยถึงโอกาสในการลงทุนกับทางฝ่ายภูฏาน เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์จูงใจ และกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการลงทุนในโครงการดังกล่าว
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างโอกาสการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับทุกพันธมิตร รวมถึงภูฏาน พร้อมพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-ภูฏาน ในหลากหลายมิติ ส่งเสริมความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน มุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศและพี่น้องชาวไทย เพื่อนำไปสู่การมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการเจรจา FTA และผลักดันเป้ามูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้เพิ่มสูงขึ้น” นายชัย กล่าว