นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ชี้โครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายของ กทม.ช่วงปี 2562-2567 มีไม่น้อยกว่า 110 ล้าน อัศวิน 25 ล้าน นอกนั้นชัชชาติ 87 ล้าน พบลู่วิ่งจาก 2 แสนเป็น 3 แสน แต่ชัชชาติปรับขึ้นเป็นกว่า 5 แสน กระทั่งปีที่แล้วกระโดดไปเป็น 7.5 แสน และช่วงหลังๆ คนเสนอราคาแข่งกัน “หน้าเดิม” 3 บริษัท
จากกรณีที่เฟซบุ๊กเพจ “ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย” โพสต์ข้อความระบุว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงกว่าราคาตลาด สูงเกือบ 10 เท่า ลู่วิ่งไฟฟ้า ตัวละ 759,000 บาท และจักรยานตัวละ 484,000 บาท นั้น
ล่าสุดเฟซบุ๊ก “ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ – Suphanat Minchaiynunt” ของนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า “จริงๆ เรื่องนี้ผมตามส่องมาตั้งแต่เมื่อต้นปี โดยได้ส่งหนังสือลงวันที่ 19 ม.ค. 67 ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงแล้ว 1 โครงการ (โครงการปี 65 สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง) ซึ่งพบว่ารายการที่ กทม.ซื้อนั้นแพงกว่าราคาตลาด (ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน สเปกเดียวกัน) โดยเฉลี่ยถึง 4 เท่า เลยขุดเพิ่มอีกหลายโครงการ
และล่าสุดวันที่ 3 พ.ค. 67 ผมให้ทาง กมธ.ติดตามงบประมาณ ส่งหนังสือตรงไปยังผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้ชี้แจงโครงการซื้อครุภัณฑ์ 10 โครงการ ช่วงปี 65-67 โดยเป็นโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายรวม 9 โครงการ รวมมูลค่า 74 ล้านบาท เพราะต้องสงสัยว่าอาจมีการทุจริต เนื่องจากราคากลางที่ กทม.ใช้นั้นมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่ากลัว (แพงกว่ายุคแรกๆ 3 เท่า จาก 254,000 บาท เป็น 759,000 บาท) ทำให้ราคาของที่ กทม.จัดซื้อสูงกว่าราคาตลาด 5-10 เท่า โดยปัจจุบันทาง กทม.ยังไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงกลับมายัง กมธ.ครับ
เพิ่มเติมคือ โครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายช่วงปี 2562-2567 มีไม่น้อยกว่า 110 ล้านบาท เป็นของสมัยผู้ว่าฯ อัศวินอย่างน้อยๆ 25 ล้านบาท ส่วนผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีก 87 ล้านบาท
โดยสมัยผู้ว่าฯ อัศวิน (2559-2565) ผมจะมีข้อมูลเฉพาะตั้งแต่ปี 2562-2565 โดยมีการจัดซื้อราคาลู่วิ่งด้วยราคาตัวละ 254,000 บาท (ปี 62) แล้วมีการปรับราคากลางขึ้นมาเป็น 500,000 บาท (ปี 63) มีการปรับลงมาตัวละ 334,000 บาท (ต้นปี 65)
พอมายุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ (2565-2567) ก็ปรับราคาขึ้นมาเป็นตัวละ 518,000 บาท (ปี 65 ศูนย์มิตรไมตรี, ศูนย์เยาวชนจตุจักร และศูนย์เยาวชนเตชะวณิช) และตั้งแต่ปี 66 ราคาได้ก้าวกระโดดไปที่ตัวละ 759,000 บาท โดยมีหลายโครงการที่ใช้ลู่วิ่งราคา 759,000 บาท ทั้งที่
– ศูนย์มิตรไมตรี
– ศูนย์วัดดอกไม้
– ศูนย์วารีภิรมย์
– ศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
ที่สำคัญมีการล็อกผลงาน ทำให้ช่วงหลังๆ คนเสนอราคาแข่งกัน จะเป็นหน้าเดิมๆ 3 บริษัท
ปล. นอกจากรายชื่อศูนย์ที่แจ้งข้างบนไป ศูนย์อื่นๆ ที่คาดว่าเครื่องออกกำลังกายหลายรายการที่มีการจัดซื้อด้วยราคาสูงเกินราคาตลาด 5-10 เท่า ตั้งแต่ปี 62-67 จะมีที่
– ศูนย์เยาวชนดอนเมือง
– ศูนย์เยาวชนหนองจอก
– ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่
– ศูนย์เยาวชนลุมพินี
– ศูนย์เยาวชนคลองสามวา
– ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา
– ศูนย์เยาวชนเกียรติกาย
– ศูนย์เยาวชนชัยพฤกษมาลา
– ศูนย์เยาวชนอัมพวา
ราคากลางในภาพที่แนบไว้ แค่เฉพาะของปี 66-67 ก็ชัดเจนแล้ว ที่แปลกคือ คณะกรรมการจัดทำราคากลาง ผู้บริหาร กทม. สำนักงบ กทม. และสภา กทม.ไม่เอะใจสักคน ทั้งที่ของแบบนี้มันใช้ sense ก็รู้ว่าแพงเกินเหตุ ไม่ต้องใช้สมองเลย แต่ปล่อยมาหลายโครงการติดๆ กัน เรื่องนี้ ป.ป.ช. สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมเข้า กทม.ครับ”
1) ทำไมผู้บริหารและจนท.กทม.ถึงไม่มีใครสงสัยว่า ราคากลางถึงได้แพงขนาดนี้ ทั้งที่พวกท่านก็เป็นคนทำงบกันเองแท้ๆ และ มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าแพง แต่ปล่อยมาได้ไง? บ้านพวกท่าน ก็มีลู่วิ่ง คงไม่มีใครซื้อตัวละ 750,000
2) ทำไมมีการปรับราคาเครื่องออกกำลังกายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 62 ยุคอัศวิน ถึง ปี 67 ยุคชัชชาติ เฉลี่ย 2-3 เท่าตัว เพราะเงินเฟ้อ, ของหายาก หรือเพราะไม่มีใครค้านเลยได้ใจ?
3) มีการ
#ล็อคสเปค สินค้าหรือไม่ ทำไมจากการสืบราคาของจนท. กทม. ทั้ง 3เจ้าถึงเสนอเครื่องออกกำลังกายยี่ห้อเดียวกัน และรุ่นเดียวกัน หลายรายการ
4) มีการ
#ล็อคการสืบราคา หรือไม่ ทำไมการสืบราคา ถึงสืบกับ 3 เจ้าหน้าเดิม หลายโครงการ และผู้เสนอราคา ก็ยังเป็น 3 เจ้าหน้าเดิม ที่กทม.ไปสืบราคามาอีกด้วย
5) ทำไมต้องมีการ
#ล็อคผลงาน กำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องมีประวัติการขายเครื่องออกกำลังกายให้กทม.ไม่น้อยกว่า … ล้านบาท (แล้วแต่โครงการ) มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าเสนอได้ ทำให้บริษัทหน้าใหม่เข้าไม่ได้ มีแต่หน้าเดิมๆ