“แบงค์ ศุภณัฐ” อัดยับ ยุค”ชัชชาติ” จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงกว่ายุค”อัศวิน”

Hotnewsoumoim - 2024-06-06T073515.686
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ชี้โครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายของ กทม.ช่วงปี 2562-2567 มีไม่น้อยกว่า 110 ล้าน อัศวิน 25 ล้าน นอกนั้นชัชชาติ 87 ล้าน พบลู่วิ่งจาก 2 แสนเป็น 3 แสน แต่ชัชชาติปรับขึ้นเป็นกว่า 5 แสน กระทั่งปีที่แล้วกระโดดไปเป็น 7.5 แสน และช่วงหลังๆ คนเสนอราคาแข่งกัน “หน้าเดิม” 3 บริษัท
จากกรณีที่เฟซบุ๊กเพจ “ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย” โพสต์ข้อความระบุว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงกว่าราคาตลาด สูงเกือบ 10 เท่า ลู่วิ่งไฟฟ้า ตัวละ 759,000 บาท และจักรยานตัวละ 484,000 บาท นั้น
ล่าสุดเฟซบุ๊ก “ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ – Suphanat Minchaiynunt” ของนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า “จริงๆ เรื่องนี้ผมตามส่องมาตั้งแต่เมื่อต้นปี โดยได้ส่งหนังสือลงวันที่ 19 ม.ค. 67 ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงแล้ว 1 โครงการ (โครงการปี 65 สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง) ซึ่งพบว่ารายการที่ กทม.ซื้อนั้นแพงกว่าราคาตลาด (ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน สเปกเดียวกัน) โดยเฉลี่ยถึง 4 เท่า เลยขุดเพิ่มอีกหลายโครงการ
และล่าสุดวันที่ 3 พ.ค. 67 ผมให้ทาง กมธ.ติดตามงบประมาณ ส่งหนังสือตรงไปยังผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้ชี้แจงโครงการซื้อครุภัณฑ์ 10 โครงการ ช่วงปี 65-67 โดยเป็นโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายรวม 9 โครงการ รวมมูลค่า 74 ล้านบาท เพราะต้องสงสัยว่าอาจมีการทุจริต เนื่องจากราคากลางที่ กทม.ใช้นั้นมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่ากลัว (แพงกว่ายุคแรกๆ 3 เท่า จาก 254,000 บาท เป็น 759,000 บาท) ทำให้ราคาของที่ กทม.จัดซื้อสูงกว่าราคาตลาด 5-10 เท่า โดยปัจจุบันทาง กทม.ยังไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงกลับมายัง กมธ.ครับ
เพิ่มเติมคือ โครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายช่วงปี 2562-2567 มีไม่น้อยกว่า 110 ล้านบาท เป็นของสมัยผู้ว่าฯ อัศวินอย่างน้อยๆ 25 ล้านบาท ส่วนผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีก 87 ล้านบาท
โดยสมัยผู้ว่าฯ อัศวิน (2559-2565) ผมจะมีข้อมูลเฉพาะตั้งแต่ปี 2562-2565 โดยมีการจัดซื้อราคาลู่วิ่งด้วยราคาตัวละ 254,000 บาท (ปี 62) แล้วมีการปรับราคากลางขึ้นมาเป็น 500,000 บาท (ปี 63) มีการปรับลงมาตัวละ 334,000 บาท (ต้นปี 65)
พอมายุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ (2565-2567) ก็ปรับราคาขึ้นมาเป็นตัวละ 518,000 บาท (ปี 65 ศูนย์มิตรไมตรี, ศูนย์เยาวชนจตุจักร และศูนย์เยาวชนเตชะวณิช) และตั้งแต่ปี 66 ราคาได้ก้าวกระโดดไปที่ตัวละ 759,000 บาท โดยมีหลายโครงการที่ใช้ลู่วิ่งราคา 759,000 บาท ทั้งที่
– ศูนย์มิตรไมตรี
– ศูนย์วัดดอกไม้
– ศูนย์วารีภิรมย์
– ศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
ที่สำคัญมีการล็อกผลงาน ทำให้ช่วงหลังๆ คนเสนอราคาแข่งกัน จะเป็นหน้าเดิมๆ 3 บริษัท
ปล. นอกจากรายชื่อศูนย์ที่แจ้งข้างบนไป ศูนย์อื่นๆ ที่คาดว่าเครื่องออกกำลังกายหลายรายการที่มีการจัดซื้อด้วยราคาสูงเกินราคาตลาด 5-10 เท่า ตั้งแต่ปี 62-67 จะมีที่
– ศูนย์เยาวชนดอนเมือง
– ศูนย์เยาวชนหนองจอก
– ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่
– ศูนย์เยาวชนลุมพินี
– ศูนย์เยาวชนคลองสามวา
– ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา
– ศูนย์เยาวชนเกียรติกาย
– ศูนย์เยาวชนชัยพฤกษมาลา
– ศูนย์เยาวชนอัมพวา
ราคากลางในภาพที่แนบไว้ แค่เฉพาะของปี 66-67 ก็ชัดเจนแล้ว ที่แปลกคือ คณะกรรมการจัดทำราคากลาง ผู้บริหาร กทม. สำนักงบ กทม. และสภา กทม.ไม่เอะใจสักคน ทั้งที่ของแบบนี้มันใช้ sense ก็รู้ว่าแพงเกินเหตุ ไม่ต้องใช้สมองเลย แต่ปล่อยมาหลายโครงการติดๆ กัน เรื่องนี้ ป.ป.ช. สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมเข้า กทม.ครับ”
โดย 5 ข้อสังเกตุ ที่ กทม.ต้องตอบสังคม กรณี #เครื่องออกกำลังกายแพง
1) ทำไมผู้บริหารและจนท.กทม.ถึงไม่มีใครสงสัยว่า ราคากลางถึงได้แพงขนาดนี้ ทั้งที่พวกท่านก็เป็นคนทำงบกันเองแท้ๆ และ มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าแพง แต่ปล่อยมาได้ไง? บ้านพวกท่าน ก็มีลู่วิ่ง คงไม่มีใครซื้อตัวละ 750,000
2) ทำไมมีการปรับราคาเครื่องออกกำลังกายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 62 ยุคอัศวิน ถึง ปี 67 ยุคชัชชาติ เฉลี่ย 2-3 เท่าตัว เพราะเงินเฟ้อ, ของหายาก หรือเพราะไม่มีใครค้านเลยได้ใจ?
3) มีการ #ล็อคสเปค สินค้าหรือไม่ ทำไมจากการสืบราคาของจนท. กทม. ทั้ง 3เจ้าถึงเสนอเครื่องออกกำลังกายยี่ห้อเดียวกัน และรุ่นเดียวกัน หลายรายการ
4) มีการ #ล็อคการสืบราคา หรือไม่ ทำไมการสืบราคา ถึงสืบกับ 3 เจ้าหน้าเดิม หลายโครงการ และผู้เสนอราคา ก็ยังเป็น 3 เจ้าหน้าเดิม ที่กทม.ไปสืบราคามาอีกด้วย
5) ทำไมต้องมีการ #ล็อคผลงาน กำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องมีประวัติการขายเครื่องออกกำลังกายให้กทม.ไม่น้อยกว่า … ล้านบาท (แล้วแต่โครงการ) มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าเสนอได้ ทำให้บริษัทหน้าใหม่เข้าไม่ได้ มีแต่หน้าเดิมๆ
แท็ก