นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 17:00 น. ของวันอังคารที่ 18 มิ.ย. 2567 นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะจัดงานเลี้ยงรับรอง เพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่สนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังจากกรรมาธิการวุฒิสภามีการประชุมเรื่องนี้เสร็จแล้วและเตรียมเปิดประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายนนี้ โดยในงานจะมีทั้งคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยที่ให้ความสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ผู้ก่อตั้งและคณะทำงานบางกอกไพร์ด หน่วยงานราชการองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายพันธมิตรสีรุ้ง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และสื่อมวลชนอีกมากมาย
โดยวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 ถือเป็นวันดีเดย์แห่งชาติ ที่คนไทยจับตาดูหลายเรื่องซึ่งหนึ่งในเรื่องนั้นคือ การที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเดินหน้าเข้าสู่เส้นชัย โดยหากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าว จะส่งมายัง ครม. และ นายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยและจะมีผลใช้บังคับ หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณในช่วงปลายปีนี้
ทั้งนี้งานฉลองที่สนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้านั้นเป็นเพียงการคิ๊กออฟของการเฉลิมฉลอง ณ เวลา 18:00 น. ขบวนพาเหรดของภาคประชาชนจะเดินหน้าไปที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) เขตปทุมวัน เพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ มีทั้งการแสดงแดรกโชว์ การแสดงดนตรี การรวมตัวกันของคู่รักที่มีความหลากหลานทางเพศที่จะเป็นอนาคตของครอบครัวภายใต้สมรสเท่าเทียมนี้ มีการประกาศถ้อยแถลงชัยชนะของการสมรสเท่าเทียมกัน และ มีการเปิดสัญลักษณ์สมรสเท่าเทียมกัน อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทุกๆเดือน มิถุนายน ของทุกปี ในหลายประเทศจะมีการจัดงานของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เราเรียกกันว่าเป็นเดือนแห่งเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month โดยเดือนแห่งเทศกาลไพรด์นี้จะเป็นเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศ เป็นเดือนที่แสดงถึงความภาคภูมิใจของชาว LGBTQIAN+ ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ได้ไปร่วมกิจกรรม เดินพาเหรด อีกทั้งในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่น่าจดจำ เพราะนับว่าเป็นวันของการพลิกหน้าประวัติศาตร์ เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ รัฐบาลจึงจัดกิจกรรมขึ้น เพื่อตอกย้ำให้ทุกคนเห็นถึง “วินาทีของความเท่าเทียม” ที่รัฐบาลนี้สนับสนุนและผลักดันมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอชวนประชาชนได้แสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นนี้ และทำให้โลกเห็นว่า ไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน