“พริษฐ์” เสนอร่างแก้ พ.ร.บ. ประชามติของก้าวไกล มุ่งแก้ปัญหา Double Majority-ปลดล็อกให้จัดประชามติพร้อมเลือกตั้งได้-รับประกันการเข้าชื่อออนไลน์ ย้ำพร้อมสนับสนุนทุกร่าง แต่เห็นควรให้รัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ-สนับสนุน สสร. เลือกตั้ง 100%
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ มีการพิจารณาวาระร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งมีการนำเสนอมา 4 ฉบับ รวมทั้งฉบับของพรรคก้าวไกล โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอร่าง ได้ร่วมอภิปรายให้หลักการและเหตุผล
.
โดยนายพริษฐ์ ระบุว่าแม้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ เป็นประเด็นที่มักถูกพูดถึงโดยนำไปเชื่อมโยงกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ พ.ร.บ.ประชามติไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ส่งผลต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เร็วแค่ไหน และจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยแค่ไหน ล้วนอยู่นอกเหนือจากเนื้อหาใน พ.ร.บ.ประชามติ เช่น จำนวนประชามติ คำถามประชามติ หรือ การยืนยันหลักการว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
.
แต่เหตุผลที่ พ.ร.บ.ประชามติถูกดึงให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแนบชิดมากขึ้น มาจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ระบุว่ารัฐบาลจะยังคงไม่เดินหน้าจัดทำประชามติครั้งแรกจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าคำพูดของโฆษกรัฐบาลที่ได้แถลงหลังการประชุม ครม. ในวันนั้นว่าประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 21 กรกฎาคม – 22 สิงหาคม ไม่เป็นความจริง
.
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไป ว่าแม้จะยังไม่เคยมีคำตอบว่าหาก ครม. เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ประชามติให้เสร็จก่อนถึงจะเดินหน้าทำประชามติครั้งแรก แล้วทำไม ครม. ถึงรอมาถึงวันนี้ถึงจะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเข้ามาพิจารณา ทั้งที่ร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลถูกยื่นเข้ามาพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว แต่อย่างน้อยตนดีใจที่วันนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อมาพิจารณาวาระ พ.ร.บ.ประชามติ
.
นายพริษฐ์ย้ำว่า ปัจจัยเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ควรเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มากำหนดว่าจะออกแบบ พ.ร.บ.ประชามติอย่างไร เพราะหากออกแบบ พ.ร.บ.ประชามติโดยคิดแต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกพรรคการเมืองก็อาจจะถูกตั้งคำถามได้ง่ายว่าเรากำลังแก้กติกาเพื่อให้ฝ่ายที่เราสนับสนุนในประชามติได้เปรียบหรือไม่ ดังนั้น ตนจึงขอนำเสนอหลักการของ พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับพรรคก้าวไกล และชวนทุกคนมาร่วมพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ทุกฉบับในวันนี้โดยไม่คิดแต่เพียงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่โดยคำนึงถึงเป้าหมายในการออกแบบกติกาประชามติที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
.
โดยตนขอเริ่มต้นด้วย 2 ประเด็น ที่พรรคก้าวไกลเสนอ และมีร่างอื่นที่เสนอแก้ไขในทิศทางที่สอดคล้องกัน คือ
.
ประเด็น 1 ทำให้กติกาประชามติมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยการเปลี่ยนจากกติกา Double Majority เป็น Single Majority แม้กติกา Double Majority หรือ “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” เป็นกติกาที่ถูกออกแบบมาด้วยเจตนาที่ดี ให้ประชามติมีผลก็ต่อเมื่อผ่าน 2 เกณฑ์ คือจำนวนคนที่มาใช้สิทธิออกเสียงมากกว่า 50% ซึ่งตนขอเรียกว่า “เกณฑ์ชั้นบน” และจำนวนคนที่ลงคะแนน “เห็นชอบ” มากกว่า 50% ของจำนวนคนที่มาใช้สิทธิออกเสียง ซึ่งตนขอเรียกว่า “เกณฑ์ชั้นล่าง”
.
กติกาดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหาหากประชาชนออกมาใช้สิทธิกันอย่างตรงไปตรงมาตามความสนใจและความเห็นของตนเอง แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นหากคนที่สนใจในประเด็นที่มีการลงประชามติแต่ “ไม่เห็นด้วย” ตัดสินใจ “ไม่ออกมาลงคะแนนเสียง” หากทำสำเร็จ จำนวนของเขาจะถูกไปนับรวมกับคนที่ไม่ได้สนใจและไม่มีแผนจะออกมาใช้สิทธิตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว จนทำให้จำนวนของคนที่ออกมาใช้สิทธิอาจลดลงเหลือต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งก็จะทำให้ประชามติถูกคว่ำ ทั้งที่จำนวนคนที่ “เห็นด้วย” มีมากกว่า คนที่ “ไม่เห็นด้วย”
.
ดังนั้น การมีอยู่ของกติกา Double Majority จะทำให้ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” กับการเปลี่ยนแปลงที่ถูกเสนอในประชามติ มีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม (unfair advantage) และจะเปิดช่องให้ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” สามารถใช้วิธี “นอนอยู่บ้าน” เพื่อกดจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิลง และหวังจะคว่ำประชามติให้ตกไป ดังนั้น เพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ร่างของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และครม. จึงเสนอตรงกันว่าให้ปรับกติกาประชามติจาก Double Majority เป็น Single Majority โดยยกเลิก “เกณฑ์ชั้นบน” ที่เกี่ยวกับสัดส่วนการออกมาใช้สิทธิ ให้เหลือแต่ “เกณฑ์ชั้นล่าง” ที่เกี่ยวกับสัดส่วนการลงคะแนนของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ
.
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไป ว่าความแตกต่างระหว่าง 3 ร่างจะมีอยู่เล็กน้อยที่เกณฑ์ชั้นล่าง เพราะในขณะที่ร่างของพรรคเพื่อไทยกำหนดว่าประชามติจะมีผลต่อเมื่อจำนวนคนที่ลงคะแนน “เห็นชอบ” เป็นเสียงข้างมาก มากกว่าจำนวนคนที่ลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ” และมีมากกว่าคนที่ลงคะแนนในช่อง “ไม่แสดงความคิดเห็น” แต่ร่างของพรรคก้าวไกลและ ครม. กำหนดว่าประชามติจะมีผลต่อเมื่อจำนวนคนที่ลงคะแนน “เห็นชอบ” มีเสียงมากกว่า 50% ของจำนวนคนที่มาใช้สิทธิออกเสียง ซึ่งเท่ากับว่าจำนวนคนที่ลงคะแนน “เห็นชอบ” ต้องมีมากกว่าจำนวนคนที่ลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ” และ คนที่ลงคะแนนในช่อง “ไม่แสดงความคิดเห็น” รวมกัน
.
ประเด็น 2 ทำให้กติกาประชามติมีความยืดหยุ่นขึ้น โดยการปลดล็อกให้ กกต. กำหนดวันออกเสียงประชามติให้เป็นวันเดียวกับการเลือกตั้งอื่นในระดับชาติหรือท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น แม้ พ.ร.บ.ประชามติ ปัจจุบันจะไม่ได้ห้ามไม่ให้จัดการเลือกตั้งในวันเดียวกับการทำประชามติ แต่ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พรรคก้าวไกลเคยเสนอญัตติให้จัดประชามติครั้งแรกเรื่องรัฐธรรมนูญในวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แม้สภาผู้แทนราษฎรจะเห็นตรงกับเราอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่วุฒิสภาได้ปัดตกข้อเสนอดังกล่าว โดยบางคนได้ให้เหตุผลว่า กกต. มีความกังวลว่ากฎหมายปัจจุบันทำให้การดำเนินการจัดประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งทำได้ยาก
.
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ตนจึงใช้กลไกของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ เพื่อขอให้ กกต. เขียนข้อกังวลที่มีมาให้ทั้งหมด ว่ามาตราไหนบ้างใน พ.ร.บ.ประชามติที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง สส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น และต่อมาร่างฯ ของพรรคก้าวไกลก็ได้แก้ไขปลดล็อกให้ กกต. ไม่มีอุปสรรคอะไรเหลืออีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบในการกำหนดวันออกเสียงใน ม.10-11, การกำหนดเขตออกเสียงใน ม.18, การกำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงประชามติใน ม.19, การกำหนดผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตการออกเสียงใน ม.29, หรือการแบ่งผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ยังไม่เขียนไว้ในมาตราไหน
.
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไป ถึงประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอในร่างของเราแต่ไม่มีร่างอื่นเสนอซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็น คือ
.
ประเด็น 1 ทำให้กติกาประชามติมีความทันสมัยขึ้น โดยปลดล็อกให้ประชาชนเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ในการเสนอคำถามประชามติ เพราะตามกฎหมายปัจจุบัน กกต. ไปกำหนดให้กระบวนการการเข้าชื่อของประชาชนต้องทำผ่านเอกสารที่พิมพ์ออกมาเป็นแผ่นเท่านั้น ดังนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ของพรรคก้าวไกล จึงเสนอให้ พ.ร.บ.ประชามติรับประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งสสอดคล้องกับสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเสนอร่างกฎหมาย ที่ถูกรับรองโดย พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2564
.
ประเด็น 2 ทำให้ประชามติมีความหลากหลายมากขึ้น โดยการเปิดกว้างให้ประชามติสามารถมีคำถามและคำตอบที่นอกเหนือจากแค่ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ของพรรคก้าวไกล
เพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบคำถามและตัวเลือกคำตอบ
.
ตัวอย่างที่หนึ่งคือการเปิดช่องให้ประชามติสามารถมีตัวเลือกคำตอบมากกว่า 2 ตัวเลือกได้ อย่างเช่นประชามติที่ New Zealand ในปี 2011 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ที่มีการถามประชาชนว่า “หากจะเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง อยากจะเปลี่ยนไปเป็นระบบไหนจาก 4 ตัวเลือก”
.
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไป ว่าอีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำให้ประชามติที่มีแค่ 2 ตัวเลือก สามารถเขียนตัวเลือกคำตอบด้วยข้อความอื่นๆ จาก “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ได้ แม้อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็เป็นประเด็นที่ถูกเถียงพอควร ในประชามติที่สหราชอาณาจักรในปี 2016 เกี่ยวกับ Brexit หรือการออกจากสหภาพยุโรป ตอนแรกคำถามประชามติที่ถูกออกแบบมาเป็นคำถามที่ว่า “สหราชอาณาจักร ควรยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไม่” โดยมีตัวเลือกคำตอบคือ “ใช่” (YES) หรือ “ไม่” (NO) แต่ชุดคำถาม-คำตอบดังกล่าวก็ถูกทักท้วงว่าอาจไม่เป็นธรรมได้ จนคำถามและตัวเลือกคำตอบประชามติในครั้งนั้นก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นที่ทุกคนพอใจและถูกใช้ในประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นั่นก็คือคำถามว่า “สหาราชอาณาจักร ควรยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือควรออกจากสหภาพยุโรป?” โดยมีตัวเลือกคำตอบคือ “ยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป” (Remain) หรือ “ออกจากสหภาพยุโรป” (Leave)
.
ส่วนอีก 3 ประเด็นสุดท้ายที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอ แต่ถูกเสนอในร่างอื่น ซึ่งมีอยู่ 3 ประเด็น นั่นคือ 1) การเพิ่มความเป็นไปได้ในอนาคต ที่จะกำหนดวิธีการออกเสียง โดยไม่จำเป็นต้องใช้คูหาเลือกตั้ง เสนอโดยร่างของพรรคเพื่อไทย 2) การเพิ่มความรับผิดชอบของ กกต. ในการจัดให้มีการแสดงความเห็นต่อประเด็นที่ถูกถามในประชามติโดยอิสระและเท่าเทียมกันทุกฝ่าย เสนอโดยร่างของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย และ 3) การจำแนกระหว่างประชามติที่มีผลบังคับทางกฎหมายกับประชามติที่เป็นเพียงการปรึกษาหารือ เสนอโดยร่างของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งใน 3 ประเด็นนี้พรรคก้าวไกลยินดีหารือและร่วมพิจารณากันเพิ่มเติมกับทุกฝ่ายในชั้นคณะกรรมาธิการ
.
“ดังนั้น แม้เราจะยังเห็นต่างกับท่านประธานเรื่องจำนวนประชามติขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แม้เรายังเห็นต่างกับรัฐบาลเรื่องการออกแบบคำถามประชามติครั้งแรก และแม้เรายังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเห็นตรงกับเราหรือไม่เรื่องการยืนยันหลักการว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่เพื่อเร่งให้การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว และเพื่อให้เรามีกติกาประชามติที่มีความเป็นธรรม ยืดหยุ่น ทันสมัย และมีความหลากหลาย ผมและพรรคก้าวไกลเรายินดีร่วมกันกับ สส. ทุกพรรคและคณะรัฐมนตรีในการรับหลักการทุกร่าง เพื่อไปทำงานร่วมกันต่อในชั้นกรรมาธิการ และหาข้อสรุปในเชิงรายละเอียดที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” นายพริษฐ์ กล่าว